การประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์
คำว่า "ประชาสัมพันธ์" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Public Relations ซึ่งคำว่า Public นั้นหมายถึง ประชา กลุ่มบุคคล หรือ ประชาชน ซึ่งมีลักษณะที่มีความเห็นเกี่ยวกับการจัดการ และมีการพบกับปัญหาบางอย่าง ซึ่งทำให้เกิดการอภิปรายปัญหานั้น ที่เป็นมติของกลุ่มที่เรียกว่า ประชามติ และคำว่า "Relations" ที่หมายถึงความสัมพันธ์ หรือความเกี่ยวข้องผูกพันแบบ 2 ฝ่าย ดังนั้น คำว่าการประชาสัมพันธ์ จึงหมายถึง ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สาธารณชนหรือกลุ่มชน เป็นเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างหน่วยงานสถาบันกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง
กล่าวโดยสรุป การประชาสัมพันธ์ คือ การเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดี ระหว่างองค์กรหรือสถาบันกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหวังผลในความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชนนั่นเอง

สถาบันหรือองค์กรใดๆที่ทำธุรกิจจะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มบุคลลต่างๆ บทบาทหน้าที่ของการประชาสัมพันธ์จึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นสิ่งที่สร้างความเข้าใจอันดีของกลุ่มชนต่างๆต่อนโยบายและแนวทางปฏิบัติของธุรกิจ การประชาสัมพันธ์ต่างๆจึงถูกนำมาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีการนำมาใช้ร่วมกับการส่งเสริมการตลาดอื่นๆ เช่นการโฆษณา การขายโดยใช้บุคคล และการส่งเสริมการขายแล้ว การประชาสัมพันธ์สามารถทำให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้มากกว่าเป็นการสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆเท่านั้น ก่อให้เกิดการเพิ่มของการรู้จักในตราสินค้า การสร้างทัศนคติในทางบวกให้แก่ผลิตภัณฑ์และธุรกิจ ตลอดจนการนำไปสู่พฤติกรรมการซื้อให้เกิดขึ้นได้

เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ จึงต้องมีกลุ่มชนที่ธุรกิจต้องสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกจ้าง กลุ่มลูกค้า กลุ่มผู้ถือหุ้น กลุ่มผู้จัดส่ง และชุมชนใกล้เคียง เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ กลุ่มที่แตกต่างกันจึงต้องมีการวางแผนทำการประชาสัมพันธ์ที่แตกต่างไป เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เกิดความก้าวหน้าทางธุรกิจ และได้รับความสัมพันธ์ที่ดีกลับมา ยังมีกลุ่มอื่นๆที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอีกมากมาย อาทิ หน่วยงานรัฐบาล สถาบันการเงิน เป็นต้น สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นประชาสัมพันธ์อีกอย่างนั่นคือ การดูแลในเรื่องของภาพลักษณ์ ที่ถือว่าเป็นสิ่งแรกที่ทำให้เกิดความประทับใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์บริษัท ภาพลักษณ์สถาบัน ภาพลักษณ์ต่อตัวของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ ภาพลักษณ์ต่อตราสินค้าหรือแบรนด์ และภาพลักษณ์ร้านค้า ซึ่งภาพหรือความรู้สึกเหล่านี้มักถูกสร้างขึ้นโดยองค์กรทางธุรกิจ หรือสร้างขึ้นจากผู้บริโภคก็เป็นได้ ในการสร้างภาพลักษณ์นั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือเรื่องของเวลา เพราะภาพลักษณ์นั้นจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นงานประชาสัมพันธ์จึงเป็นงานที่หวังผลในระยะยาว จึงต้องมีการกระทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ปัจจุบันในทางการตลาดนั้นมักดึงเอาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์มาใช้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการตลาด โดยการโฆษณานั้นจะเน้นการสื่อสารที่โน้มน้าวใจ เพื่อชักจูงผู้บริโภคให้ตอบสนองต่อสินค้า แต่ในส่วนของการประชาสัมพันธ์นั้น ไม่เน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แต่เน้นการเผยแพร่ความคิดเห็นที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือสถาบัน เพื่อก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในความรู้สึกของผู้บริโภค โดยทั่วไปการประชาสัมพันธ์จะใช้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก และ การประชาสัมพันธ์เชิงรับ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ การประชาสัมพันธ์จึงมีประโยชน์มากในทางการตลาด เพราะเป็นช่องทางหนึ่งของการติดต่อสื่อสาร จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

งานประชาสัมพันธ์เป็นงานที่ต้องมีการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น นักประชาสัมพันธ์จึงต้องมีการแจ้งข่าวสาร หรือที่เรียกว่า การให้ข่าวนั่นเอง โดยการประชาสัมพันธ์นั้นจำเป็นจะต้องมีการจัดทำเอกสารข่าว การจัดทำบทความสารคดี การจัดทำภาพข่าวแจก การจัดทำแฟ้มคู่มือสำหรับหนังสือพิมพ์ การจัดให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ การจัดให้มีรายการปฐมทัศน์แก่หนังสือพิมพ์ การจัดให้มีการรับประทานอาหารร่วมกันหรือการจัดงานเลี้ยง การจัดพานักหนังสือพิมพ์ชมกิจการ จุดประสงค์เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชน และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพราะสื่อเป็นสิ่งที่เข้าถึงเป้าหมายได้ดีที่สุด เมื่อเกิดภาพลักษณ์ที่ดี สื่อย่อมมีทัศนคติที่ดีและทำให้สื่อกล่าวถึงสถาบันในทางที่ดีด้วย จึงเป็นแรงกระตุ้นการตอบรับจากผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย
กิจกรรมต่างๆ ก็มีการนำเข้ามาใช้ในการประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อการกุศล หรือกิจกรรมที่เน้นช่วยเหลือสังคมเป็นส่วนใหญ่ และกระตุ้นหรือเชิญชวนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ทางองค์กรจัดขึ้น นอกจากกิจกรรมแล้วยังมีการใช้เหตุการณ์พิเศษหรือวันพิเศษอีกด้วย ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ ก็จะมีการใช้สิ่งตีพิมพ์ การให้ทุน หรือการจัดประชุม เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นว่าควรจะเลือกใช้กิจกรรมใด

ไม่มีความคิดเห็น: