กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการ

กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการ: Acquisition (Takeover) Strategy

หมายถึงกลยุทธ์ที่องค์กาแห่งหนึ่งใช้วิธีรุกเข้าซื้อกิจการอื่น (Takeover) เพื่อความเป็นเจ้าของ แล้วนำธุรกิจนั้นๆมาเป็นบริษัทในเครือ โดยควบคุมกลยุทธ์ในการบริหารและการแข่งขัน รวมถึงใช้ประโยชน์จากความสามารถหลักของธุรกิจที่ซื้อมา เช่น ทรัพย์สิน ทักษะการดำเนินงาน เทคโนโลยี ขอบข่ายทางการตลาด สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมไปถึงชื่อเสียงของสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิม
ด้วยกลยุทธ์นี้เอง จะทำให้ธุรกิจของตนเติบโตได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลาหรือความสามารถมากมายในการพัฒนาขีดความสามารถและทรัพยากรหลักๆ การเข้าซื้อกิจการสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

เข้าซื้อแบบเป็นมิตร (Friendly Takeover)

เป็นการเข้าซื้อกิจการที่เกิดจากความยินยอมของทั้งฝ่ายซื้อและถูกซื้อ เนื่องจากบริษัทที่ถูกซื้อมักมีแนวคิดว่าต้องการความช่วยเหลือจากบริษัทที่เข้าซื้อ เพื่อนำทรัพยากรต่างๆ เช่น เงินทุน เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญต่างๆ มาช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง โดยตกลงด้านราคาระหว่างกัน เช่น กรณีของธนาคาร ABN Amro กับ ธนาคารเอเชีย ก็เป็นการเข้าซื้อกิจการแบบเป็นมิตร หรือในกรณีของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐอเมริกา ที่ตกลงซื้อกิจการของแดวู (Daewoo) พร้อมกับแบกภาระหนี้ที่สูงถึง 27,090 ล้านบาท โดยที่ผู้บริหารระดับสูงของจีเอ็มยอมรับว่าจากการลงทุนครั้งนี้ จะทำให้แดวูสามารถขยายตลาดในเกาหลีใต้ด้วยการใช้ทั้งแหล่งของการวิจัยและเงินทุนจากจีเอ็ม อีกทั้งยังทำให้แดวูสามารถพัฒนาศักยภาพทางการผลิตให้มีมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

เข้าซื้อแบบปรปักษ์ (Hostile Takeover)
เป็นการเข้าซื้อกิจการที่ฝ่ายถูกซื้อไม่ยินยอม จึงพยายามหลีกเลี่ยงและนำพาให้บริษัทหลุดพ้นจากการไล่ซื้อ โดยใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อลดความน่าสนใจหรือที่เรียกว่า การป้องกันการถูกซื้อ (Takeover Defense) เช่น การที่ผู้บริหารทำสัญญาก่อหนี้ที่ไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว ทำให้บริษัทที่จะเข้าซื้อให้ความสนใจลดลงเพราะต้องแบกรับภาระหนี้ในอนาคต เทคนิคนี้เรียกว่า การวางยาพิษ (Poison Pill) ทั้งยังมีเทคนิคในการต่อต้านการเข้าซื้อกิจการแบบปรปักษ์อีกหลายประการ

ไม่มีความคิดเห็น: