ขายตรงหนีตายออกนอก ทางรอด ยุคเศรษฐกิจทรุด?

สถานการณ์เศรษฐกิจ ณ เวลานี้ ถือว่าไม่แตกต่างจากปี 2549 มากนัก เพราะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังค่าใช้จ่ายเช่นเดิม และอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ต้องยอมรับว่าบรรดาห้างร้านและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กใหญ่ต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้าและสำหรับธุรกิจขายตรงก็หนีไม่พ้นเช่นกัน

แม้จะมีบริษัทขายตรงออกมายืนยันว่าการที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ส่งผลดีมากกว่าผลเสี่ยเพราะจะทำให้หลายคนจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มซึ่งธุรกิจขายตรงก็จะกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับบุคคลเหล่านี้ อย่างไรก็ตามหากมองในมุมนั้นถือว่าไม่ผิดนัก แต่ถ้าลองหันมามองในฝั่งผู้บริโภค ในเมื่อทุกคนจำเป็นต้องรัดเข็มขัดให้กับตัวเองและ มีการไตร่ตรองมากขึ้นในการซื้อสินค้า ประกอบกับส่วนใหญ่สินค้าขายตรงมีราคาแพงกว่าตลาดค้าปลีกทั้งสิ้น ในเมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความเป็นจริงที่ว่าจะมีนักขายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนลูกค้ายังเท่าเดิมหรือลดลง และเมื่อเป็นฉะนั้นแล้วจะส่งผลดีต่อบริษัทได้อย่างไร

ทั้งนี้ สำหรับบริษัทที่ยังคงยืนอยู่ได้ เหตุผลหนึ่งก็อาจมาจากค่าสมาชิกของนักขายสำหรับแผนการตลาดที่ต้องเปิดรหัสในราคาสูง และมีการจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ที่สามารถหาสมาชิกได้มาก แต่นั้นคงต้องระวังให้ดีเพราะอาจจะเข้าขายแชร์ลูกโซ่เพราะรายได้หลักไม่ได้มาจากการขายสินค้าแต่มาจากการเก็บค่าหัวของสมาชิก

อย่างไรก็ตามทางออกที่ขายตรงหลายบริษัทเลือกเป็นทางรอดนั่นคือ “ตลาดต่างประเทศ” ซึ่งหลายประเทศมองว่าตลาดยังเปิดกว้างอยู่ แต่ในเมื่อเศรษฐกิจปี 2550 ยังชะลอตัวและอาจจะต่อเนื่องยาวตลอดทั้งปี ดังนั้นธุรกิจขายตรงหันไปเน้นการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นบริษัทอาจจะไม่รอด แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทจำเป็นต้องหาที่มีความเข้าใจในเรื่องธุรกิจต่างประเทศอย่างแท้จริง และรวมไปถึงนักขายระดับผู้นำด้วย ส่วนเรื่องสินค้านั้นต้องมั่นใจว่าคุณภาพสามารถสู้ต่างชาติได้

ทว่า บริษัทขายตรงหลายแห่งที่ออกไปทำการตลาดอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังดูไม่เป็นโล้เป็นพายสักเท่าใดนัก ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นขอเตือนว่าให้ทำการค้าในประเทศดีกว่า เพราออกไปทำก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จ ส่วนการเริ่มทำตลาดต่างประเทศ ควรนำสินค้าเป็นใบเบิกทางก่อน เพราะหากสินค้าสามารถไปได้ด้วยดีระบบเครือข่ายก็ตามเข้าไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้อย่าคิดเล็กเพราะกระแสตลาดนอกเวลานี้กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ให้คุณ “คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก” แล้วธุรกิจของคุณก็จะประสบความสำเร็จ

จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเป็นเรื่องดีในการเข้าไปทำตลาดต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามในเวลานี้ตลาดในไทยยังคงมีช่องทางอยู่มาก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าด้วย ซึ่งหากเป็นสินค้าที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเชื่อว่าจะยังคงทำตลาดได้อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่หากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบแน่นอน ส่วนที่เห็นว่าบริษัทยังไม่ค่อยออกไปทำตลาดต่างประเทศมากนัก เนื่องจากเห็นว่าต้องมีการลงทุนสูงหากทำการผลีผลามอาจจะเจ็บหนักก็ได้ นอกจากนี้ ยังมองว่าตลาดต่างประเทศในเวลานี้ก็ดูไม่แตกต่างจากในไทยเท่าไรนัก เหตุนี้เองจึงยังมีบริษัทที่จะตัดสินใจออกไปทำไม่มากนัก

สำหรับแนวโน้มในปัจจุบันนี้ที่บริษัทขายตรงไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศน้อยลงนั้น คิดว่าด้วยปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถแข่งขันกับที่นั่นได้ เช่นในเรื่องคุณภาพ ราคา สินค้า เป็นต้น ด้งนั้นการที่บริษัทเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศควรที่จะมีความพร้อมเสี่ยก่อน

ทั้งนี้ ตลาดต่างประเทศเป็นตลาดที่กว้างซึ่งเปรียบเสมือนเค้กก้อนใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถคว้าเค้กก้อนนั้นไว้ในมือได้หรือเปล่า เพราะตลาดไม่ได้ง่ายเช่นนั้นยังคงมีคู่แข่งอีกมากมาย ดังนั้นการเข้าไปเปิดตลาดต่างประเทศได้ต้องขึ้นอยู่ที่ว่าผู้บริโภค มีกำลังซื้อดี และบริษัทจะต้องมีสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ และยังต้องมีฐานสมาชิกในประเทศนั้นๆ ก่อน เพื่อเป็นการง่ายในการเปิดตลาด

จากความเห็นทั้งผู้ประกอบการและนักวิชาการ ต่างคนต่างความเห็น แต่ที่สรุปได้ก็คือ การที่จะไปขยายตลาดต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดูความสามารถ ของตนเอง ด้วยว่ามีศักยภาพเพียงพอ และ สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ และที่สำคัญอาจไม่ใช่ทางรอดในช่วงเศรษฐกิจทรุดเสมอไป

ไม่มีความคิดเห็น: